ในปัจจุบันที่โรคซึมเศร้าแพร่ระบาดไปทุกช่วงอายุและทุกวงการจนทำให้หลายๆคนต้องพึ่งจิตแพทย์ สิ่งหนึ่งที่ผู้ที่ป่วยมักจะได้รับคือยาต้านเศร้า รู้หรือไม่ว่าที่มาของยาต้านเศร้านั้นถูกค้นพบโดยบังเอิญจากการรักษาโรคอื่น
ยาต้านเศร้ากลุ่มแรกเรียกว่า Monoamine oxidaseinhibitors (MAOIs) โดยกลไกของมันคือทำงานเป็นตัวยับยั้ง(inhibitor) เอนไซม์ (oxidase) ที่ใช้ทำลายสารสื่อประสาทกลุ่ม monoamines ตามชื่อ ผลที่ได้คือมีการเพิ่มขึ้นของระดับสารสื่อประสาทกลุ่มนี้ในบริเวณต่างๆของสมอง รวมทั้งสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์
ทั้งนี้ จากประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์สมัยอดีตได้มีการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรค แล้วมีการสังเกตว่า ผู้ป่วยวัณโรคที่ได้ยากลุ่ม MAOIs ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรคด้วยนั้นมีอารมณ์ดีขึ้นด้วย จึงมีการตั้งสมมติฐานต่อมาว่าอาการซึมเศร้าน่าจะสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทกลุ่มmonoamines และสามารถพัฒนายาต้านเศร้ารุ่นหลังที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทกลุ่มนี้อย่างจำเพาะเจาะจงมากขึ้นออกมาได้ในที่สุด
ปัจจุบัน ยาต้านเศร้าที่จิตแพทย์มักจะสั่งให้ผู้ป่วยเป็นลำดับแรกมักเป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เช่น Sertraline, Fluoxetine หรือ Escitalopram ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี และมีผลข้างเคียงต่ำ อย่างไรก็ตาม ยาต้านเศร้ายังมีอีกหลายกลุ่มให้เลือกใช้ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีคุณสมบัติรวมถึงประสิทธิภาพแตกต่างกันไปขึ้น กับกลไกที่ยาออกฤทธิ์ โดยในผู้ป่วยบางคนอาจจำเป็นต้องได้รับการปรับยามากกว่า 2-3 ครั้ง กว่าจะได้ยาที่เหมาะสมกับ อาการและลักษณะประกอบของผู้ป่วยคนนั้น หรืออาจต้องใช้การรักษาแบบอื่นร่วมด้วย จนกว่าจะได้วิธีรักษาที่ทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นจนหายจากโรคได้ในที่สุด
ใบอนุญาตเลขที่: 10102004065
1819/2 ถ.สุขุมวิท ทางกลับรถใต้สะพานพระโขนง แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
© Relax Mind Clinic. All Rights Reserved.
Powered by KPK Computer