Relax Mind Clinic
คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมจิตเวช
ใบอนุญาตเลขที่ 10102004065
Opening Hours: Mon - Thur : 12.00 PM - 8.00 PM, Sat - Sun : 10.00 AM - 5.00 PM

Drama must End! … ทำอย่างไรให้ชีวิตรักราบรื่น

หน้าแรก บทความ
Drama must End! … ทำอย่างไรให้ชีวิตรักราบรื่น

Relax Mind Clinic

  1. scene ที่จิตแพทย์มักจะเจอในการรับคำปรึกษาเรื่องชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่แต่งงานแล้วหรือยังคบกับเป็นแฟนอยู่ก็คือ การทะเลาะเบาะแว้ง เพราะไม่มีใครฟังใคร มีแต่คนจะพูด ไม่มีคนจะฟัง เมื่อไม่มีคนฟังก็ไม่รู้จะทำความเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายเพื่อจะตอบสนองหรือปรับตัวเองอย่างไรให้ความสัมพันธ์มันดีขึ้น
  2. คู่ที่มีปัญหาเรื้อรังจนต้องมาพบจิตแพทย์นั้น มักมีลักษณะอย่างแรกคือ แย่งกันพูด โดยจะพูดข่มกันดังขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายกลายเป็นใครมีระดับเสียงดังกว่า หรือใครได้ซีนกรีดร้อง ทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายก่อน คนนั้นชนะ (คือการชนะศึกระยะสั้น แต่แพ้สงครามระยะยาว) ซึ่งถือเป็นการทะเลาะกันแบบสงครามบนดิน
  3. อีกประเภทหนึ่งคือ มีอะไรไม่พอใจในคู่ของตนก็จะเงียบ ไม่พูด แล้วรอวันภูเขาไฟระเบิดปะทุทีเดียวเมื่อมีเรื่องยิบย่อยสะสมจนกระตุ้นมากพอ ซึ่งถือเป็นการทะเลาะแบบสงครามใต้ดินบางคนไม่รู้ว่าคู่ของตนเป็น "นักประวัติศาสตร์" ที่สามารถจดจำวัน เวลา สถานที่ในอดีตอันไกลโพ้นที่เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าตัวรู้สึกไม่พอใจได้อย่างแม่นยำ มารู้ก็ตอนระเบิดลงนี่เอง
  4. เทคนิคแรกที่อยากนำเสนอสำหรับคู่รักที่แย่งกันพูดจนเป็นสงครามบนดินคือ "จับเวลาผลัดกันพูด" โดยเวลามีเรื่องไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นให้ A) อยู่ในท่านั่งคุย ห้ามยืนคุย (เพราะอารมณ์ในท่านั่งจะเย็นลงกว่ายืน) B) จับเวลาตั้งนาฬิกาในมือถือรอบละ 5 นาทีให้เตือนดังเป็นรอบ C) ตกลงกันว่าจะคุยในเรื่องอะไรเป็นหัวข้อหลัก จะไม่ออกทะเลจากหัวข้อนี้
  5. D) คนที่รู้สึกไม่พอใจก่อนให้เริ่มพูดก่อน โดยกดจับเวลาในการพูดซึ่งให้ถือเป็นเวลาของคนคนนั้น ให้อีกฝ่ายตั้งใจรับฟังเป็นหลัก โดยสามารถสอบถามได้เมื่อไม่เข้าใจบางสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด เช่น ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมที่บอกว่า... ที่เธอพูดว่า...ลองขยายความหน่อยได้ไหม **โดยห้ามแก้ตัวในเวลาที่ไม่ใช่ของตนเองเด็ดขาด** ให้ถามเพื่อทำความเข้าใจอีกฝ่ายเท่านั้น
  6. E) เมื่อสัญญาณเตือนจากมือถือดังขึ้น เวลา 5 นาทีได้หมดลง ให้ผู้เริ่มฟังเปลี่ยนเป็นผู้พูด แล้วผู้เริ่มพูดเปลี่ยนเป็นผู้ฟัง ผู้พูดในคราวนี้ให้เริ่มพูดในประเด็นที่กล่าวในมุมมองของตัวเอง โดยสามารถพูดแก้ตัวได้ หากผู้พูดคิดว่าอีกฝ่ายกำลังเข้าใจผิด ผู้ฟังมีหน้าที่ตั้งใจฟังเช่นเดียวกัน และสามารถสอบถามเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นของอีกฝ่ายได้ **โดยห้ามแก้ตัว ตำหนิหรือเปิดประเด็นใหม่ในเวลาที่ไม่ใช่ของตนเองเช่นกัน**
  7. F) กระบวนการนี้สามารถทำสลับกันได้มากกว่าหนึ่งรอบจนได้ข้อสรุปที่เห็นค่อนข้างตรงกัน อาจมีเวลาพักระหว่างรอบ 5 นาทีให้ไปคิดมาก่อนพูดใหม่ได้ สิ่งสำคัญคือ เวลาของใคร เวลาของมัน เราจะไม่พูดขัดกันเด็ดขาด หากจะพูดในเวลาที่เป็นของอีกฝ่าย ให้เป็นคำพูดเพื่อสอบถามให้เกิดความเข้าใจตรงกันเท่านั้น
  8. อีกเทคนิคที่สามารถใช้ได้ในคู่ที่มีการทะเลาะแบบสงครามใต้ดิน คือ "การ feedback เป็นรอบ ๆ" เริ่มจาก A) การเซ็ทวันให้ตรงกันก่อนว่าจะ feedback กันวันไหน เช่น ในวันอาทิตย์มื้อเย็นสัปดาห์สุดท้ายของทุกไตรมาส โดยให้ทั้งสองคนลงวันที่เวลาไว้เหมือนเป็นตารางงาน อาจพิจารณานัด feedback ที่ร้านอาหารซึ่งจะมีบรรยากาศดีกว่าที่พักอาศัย
  9. B) ในคืนก่อนวัน feedback ทั้งสองคนมีหน้าที่ในการค่อย ๆ นึก แล้วจดสิ่งที่ต้องการบอกอีกฝ่ายในวันพรุ่งนี้ โดยเป็นแบ่งสองหัวข้อหลัก หนึ่งคือ "อะไรเป็นสิ่งที่ชอบในตัวอีกฝ่ายอยู่แล้ว อยากให้ทำหรือเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ" ให้ลิสต์มา 3 อย่าง และสองคือ "อะไรเป็นสิ่งที่ถ้าอีกฝ่ายปรับเปลี่ยนได้จะน่ารัก/ดีกว่านี้" ให้ลิสต์มา 3 อย่าง (หัวข้อที่สองจะไม่ใช้คำว่า ข้อเสีย ข้อไม่ดี หรือข้อควรปรับปรุง เพราะถือเป็น toxic feedback ที่ควรหลีกเลี่ยง)
  10. C) สิ่งที่ชอบอยู่แล้ว และสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้แล้วจะน่ารัก/ดีกว่านี้ ให้พยายามยกตัวอย่างเป็น "พฤติกรรม" เพราะอีกฝ่ายจะเห็นภาพได้ชัดเจนกว่า เช่น ชอบที่รับผิดชอบตัวเองดี อย่างการล้างจานเองทุกครั้งที่กิน หรือ ถ้าปรับเปลี่ยนได้จะน่ารักกว่านี้ คือการยกที่รองนั่งขึ้นทุกครั้งก่อนปัสสาวะ เป็นต้น
  11. D) ในวัน feedback ให้ผลัดกันพูด โดยใครจะเริ่มก่อนก็ได้ แล้วแต่โยนเหรียญหัวก้อย ให้อีกฝ่ายมีหน้าที่สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โดยพยายามถามเป็น "พฤติกรรม" เช่น ที่เธอบอกว่าจะดีกว่านี้ถ้าฉันใส่ใจมากขึ้นนี่คืออยากให้ฉันทำอะไรให้บ้าง ยกตัวอย่างมาสัก 1-2 อย่างให้รู้หน่อยสิ เมื่อถามได้รายละเอียดแล้วให้จดบันทึกเป็นของตนเอง แล้วสลับกันทำ
  12. E) ในเทคนิคนี้ การร้องขอให้อีกฝ่ายปรับเปลี่ยนไม่ควรร้องสิ่งที่เป็นภาพใหญ่เกินไป ให้เริ่มจากรายละเอียดของภาพใหญ่นั้นก่อน เช่น จากที่จะร้องขอสามีให้ช่วยกันลูกทั้งวันหยุด ก็อาจจะเริ่มจากการร้องขอให้สามีช่วยดูแลลูก 2 ชั่วโมงในวันหยุด เพื่อที่ตนเองจะมีเวลาไปพักทำเล็บทำผมบ้าง เป็นต้น
  13. ส่วนของผลลัพธ์อย่าได้คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะปรับเปลี่ยนได้ทุกข้อที่เราต้องการ (ได้แค่ 1/3 จากที่ต้องการก็ถือเป็นความก้าวหน้าแล้ว) สิ่งที่ต้องการในเทคนิคนี้คือ ความสม่ำเสมอของการ feedback เพื่อให้มีการพูด ไม่เก็บกักตุนสะสมความไม่พอใจไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นสงครามใต้ดินในที่สุด

รศ.นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร

© Relax Mind Clinic. All Rights Reserved.

Powered by KPK Computer