ผู้ป่วยที่มีโรคซึมเศร้ามักมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันน้อยลง เนื่องจากอารมณ์เบื่อท้อที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นระยะเวลายาวนาน จนทำให้ผู้ป่วยไม่มีกำลังหรือความรู้สึกจะทำอะไร โดยรวมถึงกิจกรรมที่เคยชอบทำหรือทำแล้วมีความสุข ตัวอย่างเช่น แต่เดิมชอบดูซีรีย์ ชอบเตะบอล ชอบไปกินข้าวกับเพื่อน พอมีโรคซึมเศร้าก็จะดูซีรีย์ไม่สนุกเหมือนเคย ไม่อยากออกไปเตะบอลถึงแม้จะรู้ว่าออกกำลังกายแล้วจะมีความสุข ถึงแม้ว่ากลางสัปดาห์อยากออกไปปาร์ตี้ แต่พอถึงเวลาเพื่อนชวนไปจริง ๆ ก็จะรู้สึกไม่อยากไป และตอบปฏิเสธเพื่อนบ่อย ๆ จนเพื่อนเลิกชวน เป็นต้น ซึ่งการที่มีกิจกรรมลดลงเช่นนี้ จะยิ่งทำให้อารมณ์ซึมเศร้าเป็นมากขึ้น เนื่องจากการที่อยู่เฉย ๆ ใจจะไปเกาะกับความคิดลบ ๆ ที่เกิดขึ้นในหัว และการที่ทำอะไรได้ลดลงจะยิ่งทำให้เชื่อว่าตนไม่มีคุณค่า ไม่มีความสามารถ ไม่สมควรมีความสุข อาจจะไม่มีวันหายจากโรค อาจจะต้องอยู่กับโรคซึมเศร้านี้ไปตลอด ซึ่งนำไปสู่ความสิ้นหวังและซึมเศร้ามากขึ้นในที่สุด
การบำบัดโรคซึมเศร้าระดับที่เป็นน้อยถึงปานกลางมีเทคนิคอย่างหนึ่งเรียกว่า การกระตุ้นพฤติกรรม (Behavioural Activation หรือ BA) โดยหลักการของเทคนิคนี้คือ ให้ทำสวนทางกับวงจรของโรคซึมเศร้า นั่นคือกระตุ้นให้ทำพฤติกรรมที่เคยชอบทำหรือพฤติกรรมที่ทำแล้วได้ความรู้สึกของความสำเร็จหรือภูมิใจ แม้จะเป็นเพียงพฤติกรรมที่ดูเล็กน้อยก็ตาม โดยไม่ต้องรอให้มีอารมณ์ดีขึ้นก่อนถึงทำสิ่งที่ชอบ แต่ให้ทำสิ่งที่ชอบที่ละน้อย ๆ ให้อารมณ์ค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งคำพูดอย่างหนึ่งที่ผู้รักษามักจะบอกผู้ป่วยคือ “ให้ทำตามแผน ไม่ทำตามอารมณ์” หรือ “ทำตามแผน ไม่ทำตามโรค” เนื่องจากโรคซึมเศร้าจะเหมือนกระแสน้ำที่คอยพัดพาผู้ป่วยไว้ให้ลอยตามอารมณ์ ไม่ให้ทำอะไรลอยไปตามอารมณ์ทางลบเรื่อย ๆ เหมือนปลาตาย ซึ่งการจะหายจากโรคซึมเศร้าได้ต้องอาศัยความพยายามว่ายต้านกระแสน้ำเหมือนปลาเป็นเพื่อไปสู่ต้นน้ำคือการหายจากโรคในที่สุด
ตัวอย่างที่หมอชอบถามผู้ป่วยให้คิดคือ เปรียบเทียบการทำ BA เหมือนการที่ต้องเข็นรถที่จอด แน่นอนว่า ช่วงแรกของการออกแรงเข็นต้องใช้แรงมาก แต่พอรถเริ่มเคลื่อนไปนิดนึงแล้ว ความฝืดก็จะน้อยลง แรงที่ใช้ก็น้อยลงไปด้วย ก็เหมือนกับการทำ BA ช่วงแรกที่ต้องอาศัยความพยายามมากหน่อย แต่พอทำไปสักพักแล้วก็จะต้องฝืนตัวเองน้อยลงไปเอง
กิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข (pleasure) เป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยมักเคยชอบทำเวลาว่างตอนที่ยังไม่ป่วย เช่น ดูหนัง ดูซีรีย์ เล่นดนตรี ฟังเพลง ออกกำลังกาย กินข้าวกับเพื่อนหรือครอบครัว ส่วนกิจกรรมที่รู้สึกสำเร็จหรือภูมิใจที่ได้ทำ (mastery) มักเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องจัดการอะไรสักอย่างแล้วจะรู้สึกโล่งใจ หายเหนื่อย เช่น จัดห้อง ทำความสะอาดบ้าน เคลียร์งานเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น
เคล็ดลับของการเริ่มทำ BA คือให้แบ่งกิจกรรมเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วทำทีละน้อย เช่น หากแต่เดิมชอบดูซีรีย์ทั้งซีซั่นข้ามคืน ก็ให้แบ่งเป็นเริ่มดูซีรีย์แค่วันละ episode จากเดิมที่เคยว่ายน้ำวันละ 1 ชั่วโมง ให้เริ่มว่ายน้ำแค่วันละ 15 นาที จากเดิมที่เคยทำความสะอาดห้องทั้งห้อง ให้เริ่มแค่ทำความสะอาดโต๊ะเขียนหนังสือในห้อง เป็นต้น แล้วค่อย ๆ เพิ่มกิจกรรมทีละน้อย ทุก 2-3 วัน หรือทุกสัปดาห์เท่าที่ไหว จนกระทั่งได้ระยะเวลาของกิจกรรมตามปกติตอนที่ไม่ป่วย
ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดอาจมีบทบาทในการช่วยดึงผู้ป่วยไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ดูซีรีย์ด้วยกัน ไปออกกำลังกายด้วยกัน หรือช่วยกันจัดบ้าน เป็นต้น
ส่วนสุดท้ายที่จะแนะนำในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือ พยายามอย่านั่ง ๆ นอน ๆ เฉย ๆ เพราะโรคซึมเศร้าจะเหมือนหลุมดำ หากอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน มันจะค่อย ๆ ดูดเราลงไป (เหมือนในช่วงการระบาดของ covid ที่หลายคนเหมือนมีอาการซึมเศร้าน้อย ๆ เพราะไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยชอบทำได้เหมือนเดิม) แต่หากฝืนทำกิจกรรมนู่นนี่ คุยกับคนนู้นคนนี้ ถ้าอยู่บ้านคนเดียวก็หาอะไรดู หาอะไรฟัง หาอะไรเล่นไปเรื่อย ก็เปรียบเสมือนการพยายามเคลื่อนที่ต้านแรงดูด อารมณ์จะไม่จมดิ่งมาก และหากพยายามทำด้วยตนเองแล้วยังรู้สึกไม่ดีขึ้นหรือหากโรคซึมเศร้าเป็นในระดับค่อนข้างรุนแรง เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย การทำนัดเพื่อปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับประทานยาต้านเศร้าก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้หายจากโรคซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (ทานยาต้านเศร้า 2 ชนิดแล้วไม่ดีขึ้น) ยังมีการรักษาแบบอื่นอีกที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าสามารถทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นจนอาจหายไปได้ ไม่ว่าจะเป็น การทำจิตบำบัดแบบ CBT การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (rTMS) การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT) และการให้ยาต้านเศร้าที่ออกฤทธิ์เร็วทางหลอดเลือด
ใบอนุญาตเลขที่: 10102004065
1819/2 ถ.สุขุมวิท ทางกลับรถใต้สะพานพระโขนง แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
© Relax Mind Clinic. All Rights Reserved.
Powered by KPK Computer